May 10

Attachment style

สำหรับคนที่อยากเริ่มทำ Attachment style test (ภาษาไทย)เลย กดที่นี่ครับ

วันนี้มาคุยกันเรื่อง attachment style กันครับ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  John Bowlby นั้นเกิดขึ้นมาในหมู่ชนชั้นสูงของอังกฤษ ซึ่งคนสมัยนั้นเชื่อกันว่า พ่อแม่ไม่ควรจะเลี้ยงลูกเอง เพราะจะเป็นการสปอยล์ลูก  John Bowlby ก็เลยเติบโตมากับพี่เลี้ยงคนหนึ่งตั้งแต่เด็ก จนวันหนึ่งพี่เลี้ยงคนนี้ลาออกไป เขาก็รู้สึกเศร้าเสียใจมาก แต่ในความเศร้าเขาเองก็เก็บความสงสัยเอาไว้ด้วยว่า ทำไมเขาถึงเสียใจกับการจากไปของพี่เลี้ยงยิ่งกว่าแม่ของตัวเองเสียอีก

และความสงสัยนี้ก็นำไปสู่ความเชื่อใหม่ของเขาที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกนั้นสำคัญต่อสุขภาพจิตของเด็กกว่าที่สมัยนั้นเชื่อกัน

ต่อมาลูกศิษย์ของ Bowlby ที่ชื่อว่า Mary Ainsworth ก็ได้ทำการทดลองต่อในช่วงปี 1970 โดยการเอาเด็ก 3-4 ขวบ พร้อมกับแม่ของเด็ก เข้ามาในห้องๆหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยของเล่นมากๆมาย รวมทั้งคนแปลกหน้าอีกคนหนึ่ง จากนั้นก็ให้แม่ออกจากห้องไป เหลือให้เด็กอยู่กับคนแปลกหน้าแค่สองต่อสอง แล้วก็ให้แม่เดินกลับเข้ามาในห้องใหม่อีกครั้งในอีกไม่กี่นาทีต่อมา

แล้ว Ainsworth ก็ดูว่าพฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างไร

ปรากฏว่า เด็กมีพฤติกรรมแค่ 3 แบบเท่านั้น

คือ

  1. ร้องไห้ เมื่อแม่เดินออกไป แต่เมื่อแม่เดินกลับเข้ามาแล้ว ก็หยุดร้อง แล้วก็กลับไปเล่นของเล่นใหม่
  2. ร้องไห้ เมื่อแม่เดินออกไป แต่ถึงแม่จะกลับมาหาแล้ว ก็ใช้เวลานานกว่าจะหยุดร้อง แล้วก็ไม่ยอมกลับไปเล่นของเล่น จะอยู่แต่กับแม่อย่างเดียว
  3. ยังคงเล่นของเล่น แม้ว่าแม่จะออกไป ไม่สนใจเมื่อแม่กลับเข้ามา เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น (แต่หัวใจเต้นแรงขึ้นเวลาที่แม่ออกไป)

ซึ่งต่อมาเมื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมในผู้ใหญ่ นักจิตวิทยาก็พบว่าเวลาที่เรามีความสัมพันธ์เชิงคู่รัก เราก็มีสไตล์ของความสัมพันธ์แทบไม่ต่างจากเด็กทั้ง 3 แบบ

พวกเขาจึงตั้งทฤษฎีที่มีชื่อว่า attachment style (attachment = ความผูกพัน) และแบ่งสไตล์ความสัมพันธ์เป็น 3 แบบคือ

  1. secure
  2. anxious
  3. avoidant

Secure:

เป็น type ที่นับว่าสมดุลที่สุดใน 3 type คือ ค่อนข้างจะเป็นคนอบอุ่น มีความมั่นใจในตัวเอง ในขณะเดียวกันก็มีความใส่ใจในคนอื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มองคนอื่นและตัวเองในแง่บวก (อย่างไรก็ตาม secure ก็ไม่ได้แปลว่าดีเลิศอะไร และมักจะมีส่วนผสมของ type อีกสอง type แฝงมาด้วยมากน้อยแล้วแต่คน)

Avoidant:

เป็น type มีลักษณะห่างเหิน ไม่ชอบที่จะสนิทชิดเชื้อกับใคร ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก มีความมั่นใจในตัวเอง แต่ไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวคนอื่น ไม่ค่อยใส่ใจความรู้สึกของอีกฝ่าย  type นี้จะเป็น type ที่บอกว่า “ทุกคนต้องดูแลความรู้สึกของตัวเอง” แต่เบื้องในลึกๆของ type นี้ก็ต้องการใครสักคนอยู่ดี

Anxious:

เป็น type ที่ต้องการความรักจากคนอื่นมาก บางครั้งมากจนเหมือนเรียกร้องความสนใจ ชอบให้อีกฝั่งบอกรัก ไม่ว่าจะมีเรื่องผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นก็จะโทษตัวเองอยู่เป็นประจำ เป็นฝ่ายยอม ฝ่ายง้อเสมอ แสดงออกทางอารมณ์มาก type นี้จะบอกกับตัวเองว่า “ถ้าฉันทำตัวให้ถูก ฉันคงได้รับความรักจากเขา”

ผมอาจจะไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม เรื่องรายละเอียดของแต่ละ type มากนัก ไว้มีเวลาว่างอาจจะมาเพิ่มเติม  เพราะตัวผมเองก็เป็น type avoidant จ๋าๆ และค่อนข้างชัดว่าเกิดจากการเลี้ยงดู

(ใครอยากอ่านเพิ่ม ก็ลองไปอ่านเพจของคุณพูห์ poohXpilates  อธิบายไว้ได้เข้าใจง่ายและละเอียดดีครับ ส่วนใครอยากทำ test เพื่อทดสอบว่าตัวเองเป็นแบบไหนก็กดที่นี่เลย)

แต่ที่อยากจะอธิบายเพิ่มคือเรื่องกลไกทางจิตวิทยาและวิวัฒนาการ ว่าทำไมแต่ละแบบถึงเกิดขึ้น

ครับ หลังจากนั้น นักจิตวิทยาก็ลองไปศึกษาว่า เด็กแต่ละ type นั้นถูกเลี้ยงมายังไงกันบ้าง

ก็พบว่าเด็กที่ secure จะเป็นเด็กที่พ่อแม่(หรือผู้ปกครอง)อยู่ดูแลตลอดตั้งแต่เล็กๆ พอร้องหิว ร้องฉี่ ร้องไม่สบายตัว พ่อแม่ก็จะมาดูแล คอยเอาใจใส่

เด็ก anxious คือ เด็กที่พ่อแม่จะมาเป็นพักๆ ร้องหิวก็มาบ้างไม่มาบ้าง เด็กพวกนี้เลยต้องพยายามร้องให้แรง ให้นานขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้พ่อแม่มาสนใจดูแลพวกเขา

ส่วนเด็ก avoidant คือ เด็กที่พ่อแม่ไม่สนใจเลย จะหิว จะฉี่ ก็ไม่มา ร้องจนคอแตกก็ไม่มา เด็กพวกนี้ได้เรียนรู้ว่า ในเมื่อร้องก็ไม่มา งั้นก็ช่างมัน กูอยู่เองคนเดียวก็ได้ อะไรประมาณนั้น

แล้วก็กลับมาที่ทฤษฎีวิวัฒนาการ ว่า เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับการวิวัฒนาการอย่างไร

เรื่องมีอยู่ว่า ปกติแล้วมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่จะอยู่กันเป็นฝูง การแบ่งปันอาหาร ทรัพยากรต่างๆเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการอยู่เป็นฝูงมากๆ เพราะถ้าไม่แบ่งปันกันก็อาจจะถูกขับไล่ออกจากฝูงได้

ในช่วงเวลาที่ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะการอยู่รอดในระดับฝูงทำให้เกิดการอยู่รอดในระดับบุคคล เช่น ช่วงนี้ฉันเป็นหวัดออกไปหาอาหารไม่ได้ ก็ยังมีเพื่อนที่หาอาหารมาได้เกินพอดี เอามาแบ่งปัน วันใดที่เพื่อนป่วย เราก็หาอาหารมาให้เพื่อนบ้าง พึ่งพาอาศัยกันไป ซึ่งต้องบอกว่า นี่เป็นสภาพที่เป็นอุดมคติ คือ ถ้าเป็นได้ มนุษย์ทุกคนก็จะอยากอยู่กันแบบนี้แหละ (ศาสนา วัฒนธรรมต่างๆ ที่สนับสนุนการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็มีรากมาจากสิ่งนี้เช่นเดียวกัน)

แต่ในช่วงเวลาที่ทรัพยากรขาดแคลน (เช่น ยุคน้ำแข็ง หรือ สถานที่แห้งแล้ง) การอยู่รอดระดับฝูงกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแล้ว เพื่อนป่วยไม่มีกิน แต่ฉันเองก็ไม่ค่อยมีกินเหมือนกัน ถ้าแบ่งอาหารให้ฉันก็ไม่รอด ในลักษณะแบบนี้ ต่างคนต่างอยู่ดีที่สุด นิสัยเห็นแก่ตัวจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะถ้าไม่เห็นแก่ตัวก็เท่ากับตาย

ธรรมชาติเลยสร้างให้มนุษย์เรา มีนิสัยที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ในช่วงที่ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์(ต้องเข้าใจว่าสมัยก่อน อุดมสมบูรณ์ ไม่ได้ได้มาง่ายๆ เหมือนบินไปโรบินฮู้ดที่อเมริกา อาจจะกินเวลาหลายชั่วอายุคน กว่าจะอุดมสมบูรณ์) พ่อแม่ก็ไม่ต้องใช้เวลาในการออกไปหาอาหารมากนัก ก็มีเวลาเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่ ธรรมชาติก็เลยออกแบบให้เด็กที่ถูกเลี้ยง secure ที่มีลักษณะของความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ เพราะมีความจำเป็นต่อการอยู่เป็นฝูง

ในช่วงที่ทรัพยากรขาดแคลน พ่อแม่ต้องใช้เวลาในการหาอาหารมาก ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ธรรมชาติก็เลยออกแบบให้เด็กที่ถูกเลี้ยงมาแบบไม่มีเวลาให้กลายเป็น avoidant ที่มีลักษณะของความเย็นชา ความเห็นแก่ตัว เพราะมีความจำเป็นต่อการเอาชีวิตรอดมากกว่า

ส่วนช่วงที่พ่อแม่มาบ้างไม่มาบ้าง ลูกก็ต้องพยายามร้องให้เสียงดัง และนานขึ้น เพราะแปลว่า พ่อแม่อาจจะอยู่แถวนั้น ก็เลยกลายเป็น anxious

จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้ว แต่ละแบบต่างก็เกิดมาบนโลกด้วยความจำเป็นคนละอย่าง บางทีเราไปเจอคนนิสัย anxious หรือแบบ avoidant แล้วมันจี๊ดเราก็ขอให้เข้าใจเถอะว่า เขาไม่ได้ตั้งใจอยากเกิดมาอย่างนี้หรอก มันเป็นของมันเองอ่ะ มันไม่ได้มีความสุขหรอกนะ ที่เกิดมาแบบนี้

แน่นอนว่า secure นั้นเป็น type ที่สมดุลที่สุด มีความสุขมากกว่า type อื่นๆ (เพราะมันเข้ากับสัญชาตญาณเดิมของมนุษย์มากกว่า)  ซึ่งผมรู้สึกถึงความสำคัญมากๆกับผู้ปกครองที่กำลังเลี้ยงดูลูกเล็กๆอยู่ว่า ในสังคมปัจจุบัน เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีทรัพยากรเหลือเฟือเกินพอ (คนไร้บ้านข้างถนนทุกวันนี้ก็ยังอยู่ดีกินดีกว่าคนป่าเมื่อ 30,000 ปีที่แล้ว) ทำไมเราถึงต้องเลี้ยงลูกให้เขาออกมาเป็น avoidant หรือ anxious กันด้วย

ให้เวลาเขาให้มากขึ้นกว่าเดิมกันเถอะครับ

ด้วยรักและปรารถนาดี

Theory of Love

 

สำหรับคนที่อยากทำ attachment style test กดที่นี่ครับ

ใครได้อะไร ลอง comment บอกกันดูนะครับ


references

https://www.simplypsychology.org/attachment.html

https://www.dk.com/us/9781465429896-love-the-psychology-of-attraction/

test แปลงเป็นภาษาไทยจาก
http://www.midss.org/content/vulnerable-attachment-style-questionnaire-vasq

(หากใครเคยทำ attachment style test ของอันอื่นแล้วปรากฏว่าไม่เหมือนกัน ก็ไม่ต้องตกใจอะไร เพราะ test พวกนี้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ ปรับนิดแต่งหน่อยอยู่ตลอดครับ)

About the Author:

Leave a Reply

*