ผู้ชายเจ้าชู้ในสันดาน
จริงๆผมก็เป็นผู้ชาย และเกลียดหนังสือประเภท “ผู้ชายเลวกว่าหมาฯ” เป็นที่สุด (แหงล่ะ ก็มันด่าผมอยู่นี่หว่า)
แต่ด้วยจรรยาบรรณของนักวิทยาศาสตร์ เราไม่สามารถมีอคติลงเฉพาะบทความที่เราชอบได้
โพสต์นี้จึงกลายเป็นเรื่องของความเป็นมาเป็นไปของความเจ้าชู้ของผู้ชายล้วนๆ ตั้งแต่ด้านวิวัฒนาการไปจนถึงระดับยีนกันเลยทีเดียว
ลงลึกกันไปขนาดนั้น
แต่ก่อนที่จะกลายเป็นคำครหาใหม่ให้เหล่าท่านชายผู้เคราะห์ร้ายทุกท่าน ผมอยากจะอธิบายก่อนว่า สิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังนั้น เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เรื่องของทฤษฎีวิวัฒนาการ
ซึ่งวิวัฒนาการนั้นไม่มีคำว่าถูกหรือผิด เจ้าชู้ไม่เจ้าชู้ ผิดหรือไม่ผิดจริยธรรมนั้นไม่ใช่ประเด็นที่ธรรมชาติจะสนใจ
หลักของการวิวัฒนาการคือการเพิ่มโอกาสการส่งทอดพันธุกรรมของเราออกไปให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด หากคุณจะเจ้าชู้แล้วคุณสามารถขยายพันธุ์ได้มาก นั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อวิวัฒนาการ หรือหากคุณจะรักเดียวใจเดียวแล้วสามารถขยายพันธุ์ได้มาก นั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อวิวัฒนาการเช่นกัน สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดก็มีแทคติคในการส่งต่อพันธุกรรมของมันแตกต่างกัน และปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น เราจะเห็นว่า สัตว์บางประเภทมีคู่หลายคู่ตลอดชีวิตของมันที่เรียกว่า Polygamy (เช่น หมา แมว) สัตว์บางประเภทก็มีแค่คู่ๆเดียวอยู่ด้วยกันตลอดชีวิตที่เรียกว่า Monogamy (เช่น มด) ซึ่งไม่ได้แปลว่า สัตว์ชนิดใดดีกว่าชนิดใด มันแค่เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง
ทีนี้กลับมาที่คนครับ คนนั้นเป็นสัตว์ที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยกันมานานแล้วว่าเราเป็นสัตว์ประเภท Polygamy(หลายคู่) หรือ Monogamy(คู่เดียว) กันแน่ เนื่องจากเราพบทั้งพฤติกรรมทั้งเจ้าชู้และรักเดียวใจเดียวในคนทั้งคู่ (ในขณะที่สัตว์อื่นๆ พฤติกรรมลักษณะนี้จะเหมือนกันทุกๆตัว คือ เจ้าชู้ ก็เจ้าชู้ทุกตัว รักเดียวใจเดียวก็จะรักเดียวใจเดียวทุกตัว)
นักวิทยาศาสตร์เองก็เฝ้าค้นหาเรื่องนี้อยู่เช่นกัน ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็พบว่า ฮอร์โมนอยู่สองตัวที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ Oxytocin(ออกซีโทซิน) และ Vasopressin(วาโซเพรสซิน) ทั้งสองตัวนี้มีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างความรักความผูกพัน ซึ่ง Oxytocin นั้นจะมีอิทธิพลในผู้หญิงมาก(ทำให้รักลูก ทำให้น้ำนมไหล) ในขณะที่ Vasopressin จะมีอิทธิพลกับผู้ชายมากกว่า
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ลองเอา Vasopressin นี้ใส่เข้าไปในสมองของหนูตัวผู้ ก็ปรากฏว่ามันมีความเป็นหนูพ่อบ้านมากขึ้น คืออดทนต่อหนูตัวเมียและเด็กมากขึ้น เกรี้ยวกราดลดลง แถมยังชอบเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มหนูมากกว่าเดิม(ส่วนหนูนั้นทำกิจกรรมกลุ่มอะไรด้วยกัน ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน)
แน่นอนว่า นักวิทยาศาสตร์ก็ย่อมจะสงสัยต่อว่า เอ๊ะ แล้วคนจะเป็นแบบนี้ด้วยมั้ยล่ะ? เนื่องจากจริยธรรมทางการทดลอง เราจึงไม่สามารถนำผู้ชายเป็นๆมาฉีด Vasopressin ใส่สมองเพื่อดูพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปได้ สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำคือ เขาก็ไปหายีนที่เกี่ยวกับการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน Vasopressin ในผู้ชาย แล้วดูพฤติกรรมที่แตกต่างกันระหว่างคนที่มียีนและไม่มียีนนั้น
แล้วฮีโร่ของเราก็ปรากฏครับ! ดร.Hasse Walum แห่งสถาบัน Karolinska ในสตอกโฮล์ม ได้ทำการวิจัยแล้วก็พบว่า ตำแหน่งยีนที่ RS3 allele 334 นั้นสัมพันธ์ ความผูกพันกับคู่ของผู้ชายอย่างแรง
ตรงนี้จะขอเท้าความไปสมัยเรา ม.ต้นอีกครั้ง เกี่ยวกับยีน ว่าปกติเราจะมียีนที่ทำงานเหมือนกัน 2 ตัว ตัวนึงมาจากพ่อ ตัวนึงมาจากแม่ (ภาษานักพันธุกรรมศาสตร์เรียกยีนที่แสดงลักษณะอะไรออกมาสักอย่างว่า Allele) สมัยเด็กๆ คุณครูอาจจะสอนให้เรารู้จักยีนเด่น ยีนด้อย คือ ถ้ายีนของเราเป็นยีนด้อย 2 ตัว เราก็จะแสดงลักษณะของยีนด้อยออกมา แต่ถ้าตัวใดตัวหนึ่งเป็นยีนเด่น ลักษณะของยีนด้อยก็จะไม่แสดงออก แสดงเป็นลักษณะของยีนเด่นแทน หรือถ้าเป็นยีนเด่นสองตัว ก็จะแสดงลักษณะของยีนเด่น เช่น ยีนสีผม ผมดำ กับ ผมทอง ผมดำเป็นยีนเด่น ผมทองเป็นยีนด้อย ถ้าคนไทยผมดำแต่งกับฝรั่งผมทอง ลูกก็จะออกมาผมดำ (เพราะลูกมีทั้งยีนเด่นผมดำ และยีนด้อยผมทอง แต่ยีนเด่นกลบ) แต่จริงๆ มันก็ไม่เชิงเป็นเช่นนั้นซะทีเดียว เพราะ เราจะเห็นว่า คนที่เป็นลูกครึ่งนั้นผมก็ไม่ถึงกับดำขลับเหมือนคนไทย จะออกน้ำตาลๆมากกว่า เพราะว่าจริงๆแล้ว ยีนด้อยมันก็แสดงออกแหละ เพียงแต่ลักษณะของยีนเด่นมันเด่นกว่าจนกลบ
กลับมาที่ allele 334 เขาก็พบว่ายีนตัวนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานของ Vasopressin receptor (receptor คืออะไร ยังไม่ต้องสนใจ เอาเป็นว่ามันเกี่ยวกับ Vasopressin ก็พอ) คือถ้าผู้ชายที่มี allele 334 นี้ 1 หรือ 2 ตัว เขาจะพบว่าผู้ชายเหล่านี้ทำคะแนนความผูกพันกับคู่รัก(เป็นแบบสอบถาม)ได้ต่ำกว่าผู้ชายที่ไม่มี allele 334 เลยมาก มักจะมีพฤติกรรมอยู่ด้วยกันแบบไม่แต่งงานมากกว่า(ซึ่งอาจจะแสดงว่ามีแนวโน้มไม่ชอบการมีพันธะผูกพันมากกว่า) และเกิดภาวะความเครียดในชีวิตคู่มากกว่าด้วย
หรือจะสรุปคร่าวๆ ก็คือ คนที่มี allele 334 จะเป็นผู้ชายที่เจ้าชู้ ไม่ชอบลงหลักปักฐานกับใคร มากกว่าผู้ชายที่ไม่มี allele 334
แปลว่าคำกล่าวที่ว่าผู้ชายเจ้าชู้โดยสันดานนั้นก็ไม่เกินจริงนัก… เพราะเราเจ้าชู้ในระดับยีนกันเลยทีเดียว
สิ่งนี้ทำให้เราได้ข้อสังเกตที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีลักษณะของ polygamy และ monogamy อยู่ใน สปีชี่ส์เดียวกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ได้อธิบายว่า สิ่งนี้น่าจะเกิดจากการที่ทั้งสองลักษณะต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่หักล้างกันพอดีๆ คือ นิสัยแบบเจ้าชู้ ก็จะทำให้ผู้ชายได้กับผู้หญิงหลายคน และมีลูกมาก(ซึ่งถือเป็นข้อดีในทางวิวัฒนาการ) แต่ในขณะเดียวกัน ลูกที่เกิดมานั้นก็มีโอกาสรอดต่ำ เพราะว่าพอเกิดมาก็เหลือแต่แม่ที่คอยดูแล พ่อหายไปหาคนอื่นแล้ว ข้าวปลาอาหารก็จะไม่อุดมสมบูรณ์เท่าไหร่(ซึ่งถือเป็นข้อเสียในทางวิวัฒนาการ) ส่วนนิสัยแบบรักเดียวใจเดียว family man นั้น ก็มีข้อเสียคือมีลูกน้อย แต่ลูกที่เกิดมาก็มีโอกาสรอดมากกว่า เพราะมีทั้งพ่อและแม่คอยหาอาหารมาให้ ลักษณะพฤติกรรมทั้งสองแบบจึงเป็นแทคติคคู่แข่งที่คู่คี่กันมาตลอด
โอเคครับ นั่นก็ทำให้เราเข้าใจถึงเหตุผลของความเจ้าชู้และไม่เจ้าชู้ของผู้ชายแล้ว สิ่งต่อไปที่คุณผู้หญิงทุกคนสงสัยคือ
ชั้นจะมีโอกาสซวยเจอผู้ชายที่มี allele 334 นี้มีมากแค่ไหน?
คำตอบครับ
สำหรับผู้ชายที่มี allele 334 2 ตัวนั้น มีประมาณ 4% ของประชากรชาย
Allele 334 1 ตัวมีประมาณ 36% ของประชากรชาย
และ ผู้ชายที่ไม่มี Allele 334 เลย มีประมาณ 60% ของประชากรชาย
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไปหลงรักใครแบบสุ่ม ความน่าจะเป็นที่คุณจะเจอผู้ชายเจ้าชู้ ก็คือประมาณ 1 ใน 3
แต่ถ้าคุณยังรู้สึกว่ามันเสี่ยงเกินไป ครั้งต่อไปที่นัดเดทกับใคร ลองหาทางเก็บเซลล์กระพุ้งแก้มของเขามาให้ได้ ส่งตัวอย่างไปที่ห้องแล็บเพื่อคอนเฟิร์มว่ายีนของเขานั้นมี Allele 334 รึเปล่า ก็น่าจะเป็นทางออกที่ชัวร์ดีนะครับ
🙂
——————————
อย่าลืมกด like และ see first เพจของเรา เพื่อรับความรู้เกี่ยวกับความรักที่อธิบายได้ครับ
References:
How Many Friends Does One Person Need? By Robin Dunbar