วิทยาศาสตร์กับการข้ามพ้นสภาวะอกหัก

กินไม่ได้นอนไม่หลับ เอาแต่คิดถึงเรื่องเก่าๆ แอบเข้าไปเช็คเฟสบุ๊คเขาบ้าง เอาแต่โทษตัวเองคิดมากบ้างว่าเราทำอะไรผิดไป
.
อาการแบบนี้พบเห็นได้ไม่ยากจากคนอกหัก
.
ทำไมเราถึงไม่ชอบการอกหัก? ก็เพราะมันคือการที่ตัวตนของเราถูกปฏิเสธ จนทำให้เราสับสน และรู้สึกไร้ค่า และอย่างที่เคยบอกว่า สมองของคุณตอนอินเลิฟ ไม่ต่างอะไรกับการติดยาเสพติด ภาวะการอกหัก จึงเหมือนการถูกห้ามเสพยา ทั้งๆที่คุณติดมันมานานหลายเดือน
.
อกหักแล้วเราต้องเจอกับอะไรบ้าง? ผมจะลองอธิบายทางเคมีให้ฟัง
สเตปในการเจออาจจะไม่ได้เรียงตามนี้นะครับ อาจจะกระโดดไปกระโดดมา
หรือใครอาจจะเจอข้อไหนหนักกว่าเป็นพิเศษก็ได้
บทความครั้งนี้อาจจะยาวหน่อย แต่ยังไงก็ลองกลั้นใจอ่านให้จบนะครับ
.
———————-
1. ความไม่พอใจ (Frustration)
สิ่งแรกที่คุณจะรู้สึก คือ คุณไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง (ไม่ได้ไม่พอใจในเชิงโกรธ แต่มันเหมือนคุณไม่ถูกเติมเต็มต่างหาก)
.
ภาวะนี้จะทำให้สมองส่วนCaudate nucles ที่ปกติดูแลเรื่องการทำตามเป้าหมาย / ความทรงจำ / การนอน / อารมณ์ โดยมันจะทำให้เรื่องพวกนี้ทำงานผิดเพี้ยนไป กลายเป็นว่า คุณนอนก็นอนไม่หลับ หลับตาก็มัวแต่คิดถึงเรื่องของเขา / อยากเจอเขาอีกครั้ง
สารเคมีโดปามีน(dopamine)และนอร์เอพิเนฟริน(norepinephrine)หลั่งสูงมาก จนทำให้คุณตื่นตัว และมีพลังงานเยอะมาก แต่ความคิดคุณกลับโฟกัสได้แค่เรื่องเดียวที่เด่นชัดที่สุดในหัวคุณ
คุณอาจจะอยากไลน์ไปขอคืนดี หรือเขียนจดหมายพร่ำเพ้อ แต่ผมขอแนะนำว่าคุณเขียนทั้งหมดนั้นได้ แต่อย่าส่งหาเขาดีกว่า ลองเก็บไว้อ่านเองในอนาคต แล้วดูว่าคุณยังรู้สึกเหมือนเดิมอยู่ไหม ลองเขียนไดอารี่ ระบายมันออกมาให้หมด
หางานอดิเรกใหม่ๆทำ หรือหาเรื่องอื่นให้เปลี่ยนการโฟกัส ปิดมือถือก่อนนอนซัก 1-2 ชม. ลองเปลี่ยนมาฟังเพลงหรืออ่านหนังสือเบาๆก่อนนอนแทน และลองดมกลิ่นวานิลลา , ลาเวนเดอร์ , มะลิให้ผ่อนคลาย
———————-
2. ความหวั่นวิตก (Panic)
คุณอาจจะเริ่มวิตกกังวล ว่าถ้าคุณไม่รีบง้อเขา คุณจะไม่มีโอกาสได้คุยกับเขาอีก แต่คุณเชื่อไหมว่าไม่มีใครเลิกรักกันภายในวันหรือ 2 วันได้หรอก กว่าความรู้สึกจะเปลี่ยน มันใช้เวลานานพอสมควร
ขณะนี้ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะเพิ่ม ทำให้คุณเครียดแบบพีคๆ และยังต้องการความพอใจอีกต่างหาก ทำให้คุณจะเครียดและกังวลไปหมด ทั้งเรื่องอดีต (ทำไมเขาทิ้งเรา/เราไม่ดีตรงไหน) และอนาคต (จะอยู่ยังไงดี/ง้อดีไหม)
ลองถามตัวเองดูว่าอะไรจะทำให้คุณผ่อนคลายมากที่สุด อาจจะเป็นการดื่มชา เล่นโยคะ เล่นกับแมว ฟังเพลงบอสซ่า ลองเอาตัวเองกลับสู่ธรรมชาติ นวดผ่อนคลายและฝึกนั่งสมาธิดู
———————-
3. ความโกรธแค้น (Rage)
ตอนนี้สมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) จะทำงาน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความทรงจำ / การตัดสินใจ / การตอบสนองทางอารมณ์
สารเซโรโทนิน(serotonin)ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทแห่งความสุขจะลดลงฮวบๆ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เกิดความคิดหมกมุ่นเยอะมาก จนความคิดอาจจะเปลี่ยนเป็นการกระทำได้ โดยเฉพาะถ้าคนขี้โมโห หรือเจ้าคิดเจ้าแค้น อาจจะเกิดพฤติกรรมการติดตามแบบโรคจิต (Stalking) , โมโหหึง , ทำร้ายใครได้
ซึ่งภาวะนี้จะพบเยอะตอนที่พึ่งเลิกกันใหม่ๆ (และเขาทำไม่ดีกับคุณ) และตอนที่แฟนเก่าคุณมีแฟนใหม่!
ทางแก้คือ มีสติอยู่เสมอว่าเรารู้สึกอะไร ความโกรธ ไม่น่ากลัว เราโกรธได้ โมโหได้ แต่ต้องหาทางระบายมันออกอย่างไม่เดือดร้อนใคร เช่น ออกกำลังกาย ต่อยมวย หรือเขียนไดอารี่ / ยิ้มเยอะๆ หัวเราะเยอะๆ / ออกไปโดนแดดเช้าบ้าง (จะทำให้นอนหลับดีขึ้นและเพิ่มเซโรโทนิน)
———————-
4. ความสิ้นหวัง (Resignation)
ในตอนนี้สารโดปามีน นอร์เอพิเนฟริน และเซโรโทนินจะต่ำมากๆๆ
จนอาจจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ หรือถ้าใครที่ไม่สามารถข้ามพ้นผ่านมันไปได้ ก็อาจจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปเลย
ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ คุณอาจจะรู้สึกไร้ค่า จนอยากฆ่าตัวตาย ต้องระวังให้ดีนะครับ อย่าลืมว่าถ้าคุณซึมเศร้า คือคุณกำลังป่วย มันเป็นโรคที่รักษาได้ด้วยการพบจิตแพทย์ กินยาและทำจิตบำบัด อย่าพึ่งสิ้นหวังกับตัวเองจนยอมแพ้ชีวิต
ในภาวะนี้ผู้ชายมักกินเหล้า หรือเล่นยาเสพติดเพื่อหนีความเจ็บปวด
ส่วนผู้หญิงก็จะร้องไห้ฟูมฟาย หนีจากสังคม หรือไม่ก็เล่าเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา
สิ่งที่ทำได้คือ รู้สึกเศร้าได้ แต่ให้หาคนที่จะซัพพอร์ตคุณทางอารมณ์ได้
เช่น เพื่อน ครอบครัว ซึ่งต้องเป็น “ผู้ฟังที่ดี” ถ้าไม่มีก็ไม่หาจิตแพทย์ก็ได้ ตอนนี้การพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้วนะครับ
———————-
5. เราเสพติดความรักและความรู้สึกดีที่ได้จากการรัก
ตอนที่คุณรักใคร คุณจะยอมให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของคุณ พอคุณเลิกกัน คุณจึงรู้สึกเคว้งคว้างเหมือนมีอะไรหายไปจากชีวิต
นอกเหนือจากความเศร้าแล้ว คุณยังต้องพบว่าการต้องกลับมากิจวัตรบางอย่างคนเดียว มันช่างเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกิน เดินผ่านร้านนี้ก็คิดถึงเขา ฟังเพลงนี้ก็คิดถึงเรื่องของเราตลอด
สิ่งที่คุณทำได้คือ ลองบันทึกความทรงจำใหม่ๆลงไปในกิจวัตรนั้นสิ เช่น ลองยอมให้เพื่อนหรือครอบครัวเข้ามาทำสิ่งนั้นร่วมกับคุณใหม่ แล้วพยายามบันทึกความรู้สึกดีๆลงไปแทนที่
ช่วงแรกๆคุณอาจจะร้องไห้หรือโมโห ก็ปล่อยมันไป คุณจะยอมให้เพลงที่คุณชอบ หนังที่คุณรัก กลายเป็นของต้องห้ามไปตลอดกาลเชียวหรือ คุณต้องเรียกความเป็นตัวเองกลับมาให้ได้!
———————-
6. คุณจะไม่มีวันลืมความสัมพันธ์นี้ หรือคนๆนี้ได้
อย่าเชื่อเพลงหรือหนังที่บอกว่า สักวันฉันจะลืมเธอได้ เพราะมันไม่มีทางเลยที่คุณจะลืมได้ (ยกเว้นว่าสมองคุณบาดเจ็บ แต่มันจะไม่โรแมนติกเหมือนหนังแฟนเดย์หรอกนะ) อย่าลืมว่าเพราะคุณเคยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ครั้งนี้มากๆ มันจึงถูกบันทึกอย่างแน่นหนาในสมองและร่างกายของคุณไปแล้ว
.
สมองนะครับ ไม่ใช่ sdcard จะได้ฟอร์แมตใหม่แล้วหายหมดได้
.
เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณทำได้คือ เลือกแต่สิ่งดีๆ และบทเรียนดีๆเก็บไว้ซะ อย่าให้มันไปผิดพลาดในอนาคตอีก ใช้พลังงานนี้ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ที่คุณไฝ่ฝันอยากเป็น และอย่าทำอะไรที่จะทำร้ายตัวเองในอนาคตเด็ดขาด (เช่น ติดเหล้า , ปล่อยเนื้อปล่อยตัว , เจ้าชู้ , ใช้เงินเกินตัว) เพราะคุณจะต้องกลับมาเสียใจทีหลังแน่นอน
.
———————-
ข่าวร้ายคือ กว่าคุณจะผ่านพ้นภาวะอกหักนี้ไปได้ มันจะต้องใช้พลังและเวลาอย่างมากมาย
.
ข่าวร้ายกว่านั้น คือ มีงานวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่ใช้เวลาถึงปีครึ่ง – 2 ปีในการฟื้นฟูตัวเองจากการอกหัก และอาจจะมากกว่านั้นถ้าสิ่งที่คุณเจอมันหนักกว่ามาตรฐาน วิธีที่ผมเล่าไป มันอาจจะไม่ช่วยคุณเลยก็ได้
.
แต่สิ่งที่ผมอยากให้คุณเชื่อคือ ถึงแม้มันจะใช้เวลาในการรักษา แต่ความเจ็บปวดของคุณมันจะลดลง ในวันนี้คุณจะไม่เจ็บเท่าวันแรกที่คุณเลิกกับเขา และมันจะลดลงไปเรื่อยๆ สารเคมีจะปรับตัวหาภาวะปกติ
และคุณจะได้ชีวิตของคุณกลับคืนมาแน่นอนครับ
?
———————————-
อยากรู้เรื่องความรักในมุมมองของวิทยาศาสตร์จากเราอย่างต่อเนื่อง อย่าลืมกด like
และ see first เพจนะครับ
REF:
http://everydayfeminism.com/…/02/neurobiology-of-a-break-up/
http://lifehacker.com/the-science-behind-why-breakups-suck-…